ประวัติและความเป็นมา

ประวัติและความเป็นมา

          โรงเรียนบ้านยางน้อย(พรหมพิทยา)  ตั้งอยู่เลขที่ ๒๐๖ หมู่ที่ ๑ (บ้านยางน้อย)  ตำบลก่อเอ้  อำเภอเขื่องใน  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี  เขต ๑ เดิมตั้งอยู่ที่ราบลุ่มกลางทุ่งนาทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านมีเนื้อที่  ๒๐ ไร่ ใช้ชื่อว่า โรงเรียนประชาบาลตำบลก่อเอ้(พรหมพิทยา) โดยมีรองอำมาตย์โท  ขุนพรหมประสาท  ขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายอำเภอเขื่องใน เป็นผู้ก่อตั้ง สร้างอาคารเรียนและเริ่มเปิดทำการสอนในปีพ.ศ.๒๔๗๔ มีนักเรียนจากหมู่บ้านต่าง ๆ ในตำบลก่อเอ้มาเข้าเรียน มี นายเปลี่ยน ปกป้อง เป็นครูใหญ่ ดำรงอยู่ด้วยเงินช่วยเหลือประถมศึกษา เมื่อปีพ.ศ.๒๔๗๕ หลังจากประกาศพระราชบัญญัติประถมศึกษา บ้านเอ้และบ้านพับ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลเกิน ๒ กิโลเมตร ได้แยกนักเรียนออกไปตั้งโรงเรียนหมู่บ้านของตนเอง จากนั้นเมื่อปีพ.ศ.๒๔๙๑ ทางราชการจัดสรรงบประมาณให้จำนวน ๒,๐๐๐ บาท (สองพันบาทถ้วน) สร้างอาคารเรียนแบบ ป.๑ ของกระทรวง ศึกษาธิการ 

เนื่องจากที่ดินของโรงเรียนเป็นที่ราบลุ่ม หน้าฝนน้ำท่วม ไม่สะดวกต่อการจัดการเรียนการสอน  จึงย้ายโรงเรียนมาปลูกสร้างอาคารเรียนในที่ดินแปลงใหม่เป็นที่ราบสูงอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน มีเนื้อที่ ๒๕ ไร่ โดยชาวบ้านได้ร่วมกันบริจาคเงินสร้างอาคารเรียน และใช้เปิดเรียนทำการสอนในปีพ.ศ. ๒๔๘๓ พร้อมเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น โรงเรียนบ้านยางน้อย(พรหมพิทยา)  เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ เมื่อพ.ศ.๒๕๑๔ เปิดเรียนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๗  และในปี พ.ศ.๒๕๒๒ ทำการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖  พ.ศ.๒๕๔๖ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนในโครงการ “หนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนในฝัน” รุ่นที่๑ ในปี พ.ศ.๒๕๔๙  ได้ผ่านการประเมินให้เป็นโรงเรียนต้นแบบหนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียนในฝัน 

ต่อมาในปีการศึกษา ๒๕๕๕ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต ๑ ได้แต่งตั้งให้ นายภัทรพล นาจาน  มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านยางน้อย(พรหมพิทยา) และได้ริเริ่มโครงการพัฒนาต้นแบบโรงเรียนคุณธรรมนำวิชาการเฉลิมพระเกียรติ  โดยการนำนักเรียนจากโรงเรียนขนาดเล็กของตำบลก่อเอ้และตำบลหัวดอน จำนวน ๑๑ โรงเรียน ได้แก่  โรงเรียนบ้านพับ  โรงเรียนบ้านก่อ  โรงเรียนบ้านเอ้  โรงเรียนบ้านโนนโพธิ์  โรงเรียนบ้านโนนใหญ่(โอภาสพิทยาคาร)  โรงเรียนบ้านท่าลาด  โรงเรียนบ้านนามน  โรงเรียนบ้านวังอ้อ(ยอดสังข์วิทยา)  โรงเรียนบ้านวังถ้ำ โรงเรียนบ้านท่าวารี  และโรงเรียนบ้านแขม(ธรรมเสนานุสรณ์) มาเรียนร่วมกัน จากนั้นในปีการศึกษา ๒๕๕๙ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้อนุมัติให้เปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ จำนวน ๒ ห้องเรียน ในปีการศึกษา ๒๕๖๐ มีโรงเรียนมาเรียนรวมจำนวน ๕ โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านก่อ โรงเรียนบ้านพับ โรงเรียนบ้านท่าวารี  โรงเรียนบ้านโนนใหญ่(โอภาสพิทยาคาร)  และโรงเรียนบ้านยางน้อย(พรหมพิทยา) และได้รับอนุมัติงบประมาณให้ก่อสร้างอาคารเรียน ๑๐๕/๒๙ จำนวน ๑๐ ห้องเรียน ทดแทนอาคารเรียน ป๑ซ ที่ขอรื้อถอน พร้อมตั้งชื่อว่า อาคารพรหมวชิรญาณ เปิดใช้เมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๑ เป็นต้นมา  และในปีการศึกษา ๒๕๖๑ โรงเรียนบ้านยางน้อย(พรหมพิทยา)  ได้เปิดเป็นโรงเรียนประจำพักนอนควบคู่กับแบบเดิม  ในปีการศึกษา ๒๕๖๒ ได้เปลี่ยนชื่อจากศูนย์เรียนรวมพรหมวชิรญาณเป็นศูนย์เรียนรวมสมเด็จพระมหาธีราจารย์   ในปีการศึกษ า๒๕๖๓ เปิดทำการเรียนการสอนจากระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ มีโรงเรียนมาเรียนรวมจำนวน ๔ โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านก่อ โรงเรียนบ้านท่าวารี  โรงเรียนบ้านโนนใหญ่(โอภาสพิทยาคาร)  และโรงเรียนบ้านยางน้อย(พรหมพิทยา) มีนายปรัชญา ฤๅชา เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน และมีเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์กรรมการมหาเถรสมาคมเจ้าอาวาสวัดยานนาวากรุงเทพมหานคร  เป็นองค์อุปถัมภ์

ปัจจุบันปีการศึกษา ๒๕๖๓ โรงเรียนบ้านยางน้อย(พรหมพิทยา) เปิดสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ และโรงเรียนบ้านท่าวารี ได้ทำการยุบเลิกโรงเรียนมาเรียนรวมกับโรงเรียนบ้านยางน้อย(พรหมพิทยา) เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๔ จึงทำให้มีนักเรียนทั้งสิ้น ๑๔๖ คน  เป็นนักเรียนชาย ๗๙ คน นักเรียนหญิง ๖๗ คน มีครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งสิ้น ๑๘ คน